วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สำรวจดาวเคราะห์ผ่านหน้าในช่วงรังสีเอกซ์ 27 สิงหาคม 2556

 สำรวจดาวเคราะห์ผ่านหน้าในช่วงรังสีเอกซ์    27 สิงหาคม 2556 
  เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน การสำรวจในช่วงรังสีเอกซ์ได้ตรวจสอบดาวเคราะห์นอกระบบดวงหนึ่งผ่านหน้าดาวฤกษ์แม่ของมัน 
 ภาพแสดง HD 189733b เป็นดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่ถูกจับได้ว่าผ่านหน้าดาวฤกษ์แม่ของมันในช่วงรังสีเอกซ์

  การเรียงตัวอันเป็นข้อได้เปรียบของดาวเคราะห์และดาวฤกษ์แม่ของมันในระบบ HD 189733 ซึ่งอยู่ห่างออกไป 63 ปีแสงช่วยให้หอสังเกตการณ์รังสีเอกซ์จันทราของนาซา และหอสังเกตการณ์ XMM-Newton ของอีซา ได้สำรวจความเข้มรังสีเอกซ์ที่ลดลงเมื่อมีดาวเคราะห์ผ่านหน้าดาวฤกษ์ Katja Poppenhaeger จากศูนย์ฮาร์วาร์ดสมิธโซเนียนเพื่อดาราศาสตร์ฟิสิกส์ กล่าวว่า มีว่าที่ดาวเคราะห์หลายพันดวงที่ถูกพบว่าผ่านหน้าเฉพาะในช่วงตาเห็นเท่านั้น สุดท้ายแล้วการได้ศึกษาสักดวงในรังสีเอกซ์นั้นมีความสำคัญเนื่องจากมันเผยให้เห็นข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับคุณสมบัติของดาวเคราะห์นอกระบบดวงหนึ่ง


ทีมใช้จันทราเพื่อสำรวจการผ่านหน้า 6 ครั้งและข้อมูลจากการสำรวจจาก XMM-Newton อีก 1 ครั้ง ดาวเคราะห์ซึ่งมีชื่อว่า HD 189733b นั้นเป็นดาวพฤหัสร้อนที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดซึ่งทำให้มันเป็นเป้าหมายหลักสำหรับนักดาราศาสตร์ที่ต้องการจะเรียนรู้ดาวเคราะห์นอกระบบประเภทนี้และชั้นบรรยากาศรอบๆ มันให้มากขึ้น พวกเขาเคยใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ของนาซาเพื่อศึกษามันในช่วงตาเห็น และใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเพื่อยืนยันว่ามันมีสีฟ้าอันเป็นผลจากการกระเจิงแสงสีฟ้าโดยอนุภาคซิลิเกตในชั้นบรรยากาศของมัน


การศึกษาด้วยจันทราและ XMM-Newton ได้เผยให้เห็นเงื่อนงำขนาดของชั้นบรรยากาศดาวเคราะห์ ยานได้เห็นแสงที่ลดลงไปในระหว่างการผ่านหน้า การลดลงในช่วงแสงรังสีเอกซ์นั้นมีมากเป็นสามเท่าของที่ลดลงในช่วงตาเห็นได้ ข้อมูลรังสีเอกซ์บอกว่ามีชั้นแผ่ขยายในชั้นบรรยากาศดาวเคราะห์ซึ่งโปร่งแสงในช่วงตาเห็นแต่ทึบแสงในรังสีเอกซ์ Jurgen Schmitt จาก Hamburger Sternwarte ในฮัมบวร์ก เยอรมนี กล่าว อย่างไรก็ตาม เราต้องการข้อมูลที่มากขึ้นเพื่อยืนยันแนวคิดนี้


นักวิจัยยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับว่าดาวเคราะห์และดาวฤกษ์สามารถส่งผลต่อกันและกันได้อย่างไรด้วย นักดาราศาสตร์ทราบมาเป็นสิบปีแล้วว่าการแผ่รังสีอุลตราไวโอเลตและรังสีเอกซ์จากดาวฤกษ์หลักใน HD 189733 นั้นกำลังระเหยชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ออกไป ผู้เขียนประเมินว่ามันสูญเสียมวลประมาณ 100 ถึง 600 ล้านกิโลกรัมต่อวินาที ชั้นบรรยากาศของ HD 189733b ดูเหมือนจะบางลงเร็วกว่าที่ควรจะเป็น 25 ถึง 65% ถ้าชั้นบรรยากาศดาวเคราะห์เล็กกว่านี้ Scott Wolk จาก CfA เช่นกัน กล่าวว่า ชั้นบรรยากาศที่แผ่ขยายของดาวเคราะห์นี้ทำให้มันเป็นเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นสำหรับการแผ่รังสีพลังงานสูงจากดาวฤกษ์แม่ ดังนั้นการระเหยจึงเกิดขึ้นได้มากกว่า


ดาวฤกษ์หลักใน HD 189733 ยังมีดาวข้างเคียงสีแดงสลัวอีกดวง ซึ่งตรวจพบเป็นครั้งแรกในช่วงรังสีเอกซ์ด้วยจันทรา ดาวน่าจะก่อตัวขึ้นในเวลาเดียวกัน แต่ดาวหลักดูเหมือนจะมีอายุน้อยกว่าดาวข้างเคียง 3 ถึง 3.5 พันล้านปีเนื่องจากมันหมุนรอบตัวเร็วกว่า, แสดงกิจกรรมแม่เหล็กในระดับที่สูงกว่าและสว่างในช่วงรังสีเอกซ์มากกว่าดาวข้างเคียงประมาณ 30 เท่า


Poppenhaeger กล่าวว่า ดาวฤกษ์นี้ไม่ได้ทำตัวเหมือนอายุของมัน และการมีดาวเคราะห์ดวงใหญ่เป็นดาวข้างเคียงก็อาจจะเป็นคำอธิบาย เป็นไปได้ว่าดาวพฤหัสร้อนกำลังรักษาอัตราการหมุนรอบตัวและกิจกรรมแม่เหล็กที่สูงของดาวฤกษ์เนื่องจากแรงบีบฉีก(tidal force) ทำให้มันประพฤติในแบบที่คล้ายดาวฤกษ์อายุน้อย


rook   :รายงาน
 

แหล่งที่มา: astronomy.com : Chandra sees eclipsing planet in X-rays for first time 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น